วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

คุณภาพของสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน


เมื่อกล่าวถึงคำว่า “คุณภาพ” ก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของเกณฑ์การประเมินมาตรฐานหรือชี้ตัววัดประสิทธิภาพต่างๆ ที่จะช่วยให้เราคาดหมายสิ่งที่เราต้องการจะวัด ว่ามีคุณภาพเพียงใด ตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเราขับรถตามรถคันหน้าที่มีสภาพ บุบบิบ ปุปุ ปะปะ หลายแห่ง แถมที่ท้ายรถยังมีข้อความว่า “นักรบย่อมไม่กลัวบาดแผล” เราคงต้องชะลอความเร็วลงหน่อยแล้วชั่งใจตัวเองว่าจะขับรถตามคันหน้าต่อไปดีไหมนั้นเพราะเราประเมินคุณภาพการขับรถคันหน้าจากสภาพที่เราเห็น

ในเรื่องสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเบื้องต้นก็คงเช่นเดียวกัน ในลักษณะของผู้ชมผู้ใช้สื่อดังกล่าว จะให้ความสนใจกับสภาพทีเห็นจากจอคอมพิวเตอร์เป็นประการแรกก่อน แต่แค่สภาพที่เห็นในการวัดคุณภาพสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเท่านั้นยังไม่พอ จึงได้มีความพยายามที่จะจัดทำเกณฑ์การประเมินสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอนไว้อย่างหลากหลาย โดยคำนึงถึงองค์ประกอบสำคัญของสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน 4 ประการเป็นหลัก (ถนอมพร, 2541 : 8-10) คือ





หมายถึงเนื้อหาสาระ (content) ที่ผู้ผลิตพัฒนารวบรวมเรียบเรียงมาอย่างดีแล้ว เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ ซึ่งในลักษณะของการนำเสนอนั้นอาจแตกต่างกันไป ตามแต่ละประเภทสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่ออกแบบ และเนื้อหานี่เองจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยแยกความแตกต่างระหว่างสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอนกับเกมทั่วไปที่มุ่งแต่ความสนุกสนานเพลิดเพลิน




กล่าวคือสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอนจะต้องมีการยืดหยุ่นมากพอที่ผู้เรียนจะมีอิสระในการควบคุมการเรียนของตนได้ ซึ่งมีอยู่หลายลักษณะ เช่น การควบคุมเนื้อหา การควบคุมลำดับของการเรียน และการควบคุมการฝึกปฏิบัติหรือการทดสอบ




หรือการโต้ตอบระหว่างผู้เรียนกับคอมพิวเตอร์ซึ่งก็คือผู้สอนในขณะนั้น การโต้ตอบที่ดีจะต้องมีการวิเคราะห์ออกแบบให้เหมาะสม สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับบทเรียนและเอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ




ซึ่งตามแนวคิดของสกินเนอร์ (Skinner) การให้ผลป้อนกลับจะเป็นการเสริมแรง (reinforcement) อย่างหนึ่ง ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนได้เป็นอย่างดี ลักษณะของการให้ผลป้อนกลับโดยทันทีที่จะช่วยแยกให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอนกับสื่อการนพเสนออื่น คือ การให้ผลป้อนกลับในลักษณะของการประเมินความเจ้าใจของผู้เรียน

ฉะนั้นภาพรวมของเกณฑ์การประเมินสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอนทั่วไป จึงให้ความสำคัญในเรื่องเนื้อหา (content) และการออกแบบระบบการเรียนการสอน (instructional design) เป็นหลัก

เนื้อหาบทเรียนที่ดีจะต้องมีความถูกต้องตามหลักวิชา เป็นปัจจุบันไม่ล้าสมัย โครงสร้างเนื้อหาชัดเจนมีความสัมพันธ์ต่อเนื่อง นั่นคือควรจะต้องมีการออกแบบบทเรียนที่ดี นำทางผู้เรียนให้เกิดความเข้าใจและจำเนื้อหาได้ มีการจัดระบบเนื้อหาสัมพันธ์กับความรู้เดิมหรือประสบการณ์เดิมของผู้เรียนหรือปูพื้นความรู้เดิมเพื่อเชื่อมโยงไปสู่ความรู้ใหม่ มีลำดับขั้นตอนของการนำเสนอความยากง่าย มีการนำเสนอวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เรียนรู้ล่วงหน้าถึงประเด็นสำคัญของเนื้อหา เค้าโครงเนื้อหาอย่างกว้างๆ ผู้เรียนจะสามารถผสมรายละเอียดส่วนย่อยให้สัมพันธ์กับเนื้อหาส่วนใหญ่ทำให้ผลการเรียนรู้มีประสิทธิภาพขึ้น ที่สำคัญเนื้อหาควรจะนำเสนอได้ตรงและครอบคลุมตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ เหมาะสมกับระดับความยากง่ายของผู้เรียนและมีการใช้ภาษาที่ถูกต้องทั้งตัวสะกด ไวยากรณ์ข้อความและการออกเสียง



และตามหลักจิตวิทยา การดึงดูดความสนใจถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญที่จะนำพาให้ผู้เรียนไปสู่พฤติกรรมเป้าหมาย ซึ่งระบบการเรียนการสอนที่ดีควรแสดงถึงความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบคือ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ไม่ได้ลอกเลียนแบบใครและปฏิบัติได้จริงไม่ใช่สิ่งเพ้อฝัน มีการปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนอย่างเหมาะสม สนองความแตกต่างระหว่างบุคคล ทั้งผู้เรียนอ่อน ปานกลาง และเก่ง ให้โอกาสผู้เรียนควบคุมลำดับการเรียนรู้อย่างเหมาะสม มีแบบฝึกปฏิบัติหรือแบบฝึกหัดและการประเมินผลที่ครอบคลุมจุดประสงค์ เพราะการวัดและการประเมินผลจะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนการสอนที่ไม่ควรจะขาดหายไป การวัดและการประเมินผลก่อนเริ่มต้นเรียนเป็นการกระทำเพื่อจัดวางตำแหน่งของผู้เรียนเพื่อให้ทราบว่าผู้เรียนมีความรู้พื้นฐานจำเป็นเพียงพอต่อการเรียนหรือไม่


ส่วนการประเมินผลในระหว่างเรียนเพื่อตรวจสอบความรู้ความสามารถของผู้เรียนขณะเรียนและการประเมินผลหลังสิ้นสุดการเรียนจะเป็นการสรุปผลการเรียนที่ผ่านมาซึ่งเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับการให้ผลป้อนกลับ (feedback) เพื่อเสริมแรงอย่างเหมาะสม การให้ผลป้อนกลับที่ดีควรจะเป็นผลป้อนกลับในเชิงบวก (positive) เพื่อให้ผู้เรียนได้รับความรู้สึกที่ดี เช่น การให้คำชม การให้รางวัลมีคำอธิบายเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้เรียนทราบว่าทำถูกหรือทำผิดอย่างไร ซึ่งนอกจากจะเป็นการเสริมแรงแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนพยายามคิดหาคำตอบที่ถูกต้องต่อไป แต่ทั้งหมดนี้ข้อสำคัญอย่างหนึ่งของการออกแบบระบบการเรียนการสอนที่ผู้ผลิตและพัฒนาต้องคำนึงถึงก็คือ ระบบจะต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์เป็น เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง

นอกจากในเรื่องของเนื้อหา และการออแบบระบบการเรียนการสอน ซึ่งถือเป็นเกณฑ์หลักๆ ในการประเมินคุณภาพสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่เกือบทุกค่ายหรือทุกๆ สำนักที่จัดประกวดหรือตรวจประเมินคุณภาพสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอนจะวางหลักเกณฑ์ไว้โดยใช้ชื่อ เรียกแตงต่างกันออกไปแล้ว เกณฑ์ประกอบอื่นในทัศนะของผู้เขียนที่เห็นว่าสำคัญก็คือเรื่องของการออกแบบหน้าจอ (screen design) เอกสารหรือคู่มือประกอบและเทคนิคที่ใช้ในการผลิต



การออกแบบหน้าจอ ในสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่ดีก็คือรูปลักษณ์ที่เราเห็นที่หน้าจอคอมพิวเตอร์แต่ก็ไม่ใช่เพียงการมองผ่านแค่บางหน้าจอ หากต้องเป็นการมองเพื่อพิจารณาต่อเนื่องตลอดทั้งเรื่อง ในสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่ดีควรจะมีการจัดวางองค์ประกอบที่หน้าจอได้อย่างเหมาะสม สวยงาม ง่ายต่อการใช้รูปแบบตัวอักษรมีขนาด สี ชัดเจน อ่านง่าย เหมาะสมกับวัยผู้เรียน ใช้สีได้อย่างเหมาะสมกลมกลืน สื่อความหมายสอดคล้องกับแนวของเนื้อหา การใช้ปุ่มข้อความ หรือแถบข้อความ หรือรูปภาพ ชัดเจนเหมาะสมและถูกต้อง เพราะปุ่มจะเป็นสิ่งกำหนดการเดินทางเพื่อช่วยให้ผู้เรียนเข้าไปยังบทเรียนได้ตามความประสงค์การใช้กราฟิกเป็นปุ่มกำหนดทิศทางทำให้ดูน่าสนใจ แต่ข้อเสียคือ หากใช้ขนาดไม่เหมาะสมอาจใช้เวลาในการถ่ายโอนข้อมูลนาน ดูเกะกะ และถ้าใช้เอฟเฟ็กต์ในการแสดงปุ่มมากไป ผู้ใช้ก็จะไม่เข้าใจ จึงควรมีความสม่ำเสมอในการใช้ปุ่ม สัญลักษณ์ต่างๆ เป็นสากล เช่น การกำหนดทิศทางใช้ลูกศร ผู้ใช้จะเข้าใจง่ายสะดวกขึ้น

ในการใช้สื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เพื่อที่จะหวังผลให้ได้เต็มประสิทธิภาพของสื่อ เอกสารหรือคู่มือประกอบย่อมเป็นเรื่องจำเป็น ต้องเป็นที่ยอมรับกันว่า ณ ปัจจุบันในประเทศไทยของเรา พื้นฐานความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์ทั้งผู้เรียนและผู้สอนทุกคนไม่เท่ากัน ฉะนั้นการมีคู่มือการใช้โปรแกรมที่ดี จะเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยในการเรียนรู้ได้ดีขึ้น



ในเรื่องของเทคนิคที่ใช้ในการผลิตนั้น จะเป็นเกณฑ์ประกอบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะมาช่วยควบคุมคุณภาพของสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน และเป็นตัวช่วยที่จะแบ่งประเภทของสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอนให้ชัดเจนในลักษณะของสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์เดี่ยวๆ (standalone) และระบบที่ใช้ผ่านเว็บอันเป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศที่พัฒนาก้าวไกลอย่างไม่หยุดยั้งในขณะนี้

เพราะสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอนระบบที่ใช้ผ่านเว็บจะต้องใช้โปรแกรมเว็บเบราว์เซอร์ (web browaer) เป็นเครื่องมืออ่านเอกสารบนเว็บ ที่เรารู้จักกันดีคือ Internet Explorer และ Netscape เพราะมีลงอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์เกือบทุกเครื่องแล้ว ผู้ใช้สามารถใช้ได้ทันที

ในส่วนของโปรแกรมที่ใช้ในการสร้างและพัฒนาสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่เราจะใช่ผ่านเว็บสามารถแยกออกได้เป็น 2 ประเภท คือประเภท Web Authoring เช่น Front Page, Dreamweaver ฯลฯ พวกนี้สามารถแสดงผลได้ทั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์เดี่ยวๆ และผ่านเว็บ แต่อีกประเภทหนึ่งคือ Web Programming เช่น ASP, CGI, PHP ฯลฯ พวกนี้ส่วนใหญ่จะเป็นโปรแกรมสำหรับประมวลผลข้อมูลบนเซิร์ฟเวอร์ เช่น ระบบฐานข้อมูลผู้เรียน ระบบประเมินผลผู้เรียน (คลังข้อสอบ) ฯลฯ ซึ่งไม่สามารถแสดงผลให้เห็นได้ในเครื่องคอมพิวเตอร์เดี่ยวๆ

ฉะนั้นเกณฑ์ในเชิงเทคนิคที่จะใช้ประเมินคุณภาพสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอนทั้งสองประเภทจึงต้องแตกต่างกัน ในสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์เดี่ยวๆ เกณฑ์ที่ควรนำมาพิจารณาคือสามารถใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีคุณสมบัติขั้นต่ำตามที่ผู้พัฒนากำหนดได้โดยไม่มีปัญหา นั่นหมายถึงว่าต้องมีการทดสอบโปรแกรมมาอย่างดีก่อน มีระบบการเข้าสู่โปรแกรมโดยอัตโนมัติ (autorun) หรือมีระบบการติดตั้งโปรแกรม (installation) การแสดงผลภาษาไทยถูกต้อง ภาพและเสียงที่ใช้ประกอบแสดงผลได้ถูกต้อง รวดเร็ว

สำหรับเกณฑ์ในเชิงเทคนิคของสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอนในระบบผ่านเว็บที่แตกต่างออกไปก็ควรพิจารณาที่การแสดงผลได้อย่างถูกต้องผ่านเว็บเบราว์เซอร์ Internet Explorer หรือ Netscape ความถูกต้องของ Web Programming รวมถึงการเชื่อมโยงไปยังจุดต่างๆ ทั้งภายในตัวสื่อและระหว่างเว็บ ทั้งนี้รายละเอียดหลีกย่อยของเกณฑ์ในเชิงเทคนิคยังมีอีกมาก เช่น Version ของเบราว์เซอร์ที่จะใช้ ความแตกต่างของ Web Programming ต่างๆ ที่ถูกสร้างและพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ ตามเวลาที่เปลี่ยนไป ฉะนั้นเกณฑ์ในส่วนนี้จึงต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอจึงจะสามารถประเมินคุณภาพสื่อได้อย่างถูกต้อง



จากทั้งหมดที่กล่าวมาคงเป็นแนวทางคร่าวๆ ของการประเมินสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถเลือกใช้สื่อได้อย่างมีคุณภาพในเบื้องต้นซึ่งคงจะไม่ใช่เพียงการมองรูปลักษณ์ที่เห็นเท่านั้น

ก็คงเหมือนกับที่เราขับรถตามหลังรถที่มีข้อความ “นักรบย่อมไม่กลัวบาดแผล” ในตอนต้น แต่เผอิญว่าวันนี้ นางสาวเรียบร้อย มารยาทงาม เป็นคนขับ ไม่ใช่ นายเก่ง ลุยทุกเรื่อง เจ้าของตัวจริงขับ เราก็คงจะขับรถตามรถที่ นางสาวเรียบร้อย มารยาทงาม ขับไปถึงจุดหมายได้อย่างปลอดภัย แม้ในเบื้องต้นจะไม่มั่นใจในสภาพที่ตาเห็นเท่าไรนักก็ตาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น